วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556




ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์อัจฉริยะ ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ

เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 วารสารแลนเซต (Lancet) อันเป็นวารสารด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงก้องโลกได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาสมองของไอน์สไตน์ และพบว่าสมองของอัจฉริยะผู้นี้มีบางส่วนที่ใหญ่กว่าคนธรรมดา และเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ผู้ที่สนใจในเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์อัจฉริยะ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก และผู้ที่เคยศึกษาหรืออ่านเกี่ยวกับประวัติของอัจฉริยะผู้นี้คงทราบดีว่าประวัติของไอน์สไตน์นั้นไม่ธรรมดาเลย แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าสมองของไอน์สไตน์หลังเสียชีวิตไปแล้วก็มีเส้นทางที่โลดโผนไม่เบาเช่นกัน
ไอน์สไตน์ผู้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ หรือที่ผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์มาบ้างคุ้นเคยในรูปของสมการ E = mc2 เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1879 ในประเทศเยอรมนี ในวัยเด็กนั้นไอน์สไตน์หัดพูดได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งเมื่อโตขึ้นมาก็มีปัญหาในเรื่องการเรียนเพราะเป็นเด็กที่มีความคิดอ่านผิดจากเด็กทั่วไป
ในวัย 16 ปี ไอน์สไตน์สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ถ้าจะเปรียบเทียบกับในปัจจุบันก็คงพูดได้ว่าสอบเอนทรานซ์ไม่ติด จากนั้นในปีถัดมาจึงได้มีโอกาสเข้าเรียนจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี
หลังจากจบการศึกษา ไอน์สไตน์เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์อยู่พักหนึ่ง แต่ก็เข้ากับพวกอาจารย์ฟิสิกส์ด้วยกันไม่ได้ ต่อมาจึงได้รับการฝากงานให้มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตร มีหน้าที่คอยตรวจสอบเกี่ยวกับหลักการและกรรมวิธีที่บรรยายไว้ในเอกสารขอจดสิทธิบัตรเพื่อให้ทางการออกสิทธิบัตรให้ ที่นี่เองที่ไอน์สไตน์ได้ใช้ความรู้ด้านฟิสิกส์อย่างเต็มที่
ต่อมาเมื่อไอน์สไตน์ประกาศผลงานเรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพเฉพาะ ไอน์สไตน์ก็กลายเป็นนักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียง และหลังจากนั้นไอน์สไตน์ในวัยหนุ่มก็มีผลงานวิจัยด้านฟิสิกส์ที่สำคัญอีกหลายเรื่อง และหลายปีต่อมาก็กลับไปยึดอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1921 ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์นั้นได้ถูกใช้เป็นแนวทางในการสร้างระเบิดปรมาณูในเวลาต่อมา
ไอน์สไตน์เป็นนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ แนวคิดทางฟิสิกส์ของไอน์สไตน์เป็นเรื่องที่ล้ำสมัยในยุคนั้น ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไต์นั้นเมื่อแรกที่ประกาศออกมาก็ยังไม่สามารถทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ต้องรออีกหลายปีต่อมานักฟิสิกส์จึงพัฒนาความรู้และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จึงพิสูจน์ได้
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี ไอน์สไตน์ได้รับเชิญให้ไปเป็นอาจารย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นก็ตั้งรกรากถาวรที่นั่นเพราะไม่สามารถกลับเยอรมนีได้เนื่องจากฮิตเลอร์เรืองอำนาจและเข่นฆ่าชาวยิวในเยอรมนี
คำพูดและความคิดเห็นของไอน์สไตน์มีน้ำหนักมากทั้งต่อวงการวิทยาศาสตร์และวงการเมือง ไอน์สไตน์ตระหนักดีว่าผลงานการค้นคว้าทางทฤษฎีฟิสิกส์ของตนมีส่วนในการพัฒนาระเบิดปรมาณูที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (อ่านความเป็นมาในการสร้างระเบิดปรมาณูได้ที่ นิทรรศการฮิโรชิมารำลึก) ดังนั้นชีวิตในช่วงหลังของไอน์สไตน์จึงอุทิศตนอย่างเต็มที่เพื่อให้โลกหันมาพัฒนาพลังงานปรมาณูในทางสันติ
ไอน์สไตน์เสียชีวิตในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1955 เมื่ออายุได้ 76 ปี ที่โรงพยาบาลพรินซ์ตันในรัฐนิวเจอร์ซีย์ หลังจากที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต เรื่องพิลึกก็เกิดขึ้น นั่นคือ ดร. ทอมัส ฮาร์วีย์ ได้ทำการผ่าสมองของไอน์สไตน์และนำเนื้อสมองมาดองเก็บไว้ แม้ไอน์สไตน์มีคำสั่งเสียไว้ว่าให้จัดการเรื่องศพของตนโดยใช้วิธีเผาศพ แต่กับเรื่องสมองนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าไอน์สไตน์ได้อุทิศสมองไว้ให้ศึกษา ทายาทของไอน์สไตน์เองก็เพิ่งทราบภายหลังจากที่ ดร.ฮาร์วีย์ผ่าสมองออกไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ดร.ฮาร์วีย์ก็สามารถเจรจากับทายาทของไอน์สไตน์ให้เห็นประโยชน์ของการเก็บสมองของอัจฉริยะผู้นี้ไว้ศึกษา และก็ได้รับความยินยอมในที่สุด
แต่หลังจากที่ ดร.ฮาร์วีย์ผ่าสมองของไอน์สไตน์ไปดองเก็บไว้แล้ว เรื่องของสมองไอน์สไตน์ก็เงียบหายไป กลายเป็นปริศนาดำมืด และไม่ปรากฏรายงานการวิจัยใดๆเกี่ยวกับสมองของอัจฉริยะผู้นี้เลย
จนอีก 23 ปีให้หลัง หรือในปี ค.ศ. 1978 บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อนิวเจอร์ซีย์มันท์ลีย์ (New Jersey Monthly) เกิดสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา หลังจากที่ตรวจสอบข่าวและพบว่าเรื่องนี้เงียบหายไปนานปีแล้ว จึงได้มอบหมายให้นักข่าวชื่อสตีเวน เลวี ไปขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมา
หลังจากการสืบเสาะของเลวีก็พบว่าสมองดังกล่าวน่าจะยังอยู่กับ ดร.ฮาร์วีย์ ในชั้นต้นเลวีโทรศัพท์ทางไกลข้ามรัฐเพื่อคุยกับ ดร.ฮาร์วีย์เรื่องสมองของไอน์สไตน์ แต่ก็ได้รับการบอกปัดว่าไม่สามารถจะให้ความช่วยเหลืออะไรได้ แต่เลวีไม่ยอมแพ้ง่ายๆ จึงลงทุนเดินทางไปพบ ดร.ฮาร์วีย์ที่รัฐวิสคอนซินด้วยตนเอง
และก็ได้ผล หลังจากที่เลวีได้พบ ดร.ฮาร์วีย์ ก็ได้ทราบว่าสมองของไอน์สไตน์ยังอยู่กับ ดร.ฮาร์วีย์จริงๆ สมองถูกเก็บผ่าเป็นหลายชิ้นและดองอยู่ในขวดโหล หลังจากนั้นข่าวคราวเกี่ยวกับสมองของไอน์สไตน์จึงได้ปรากฏแก่สาธารณชนอีกครั้ง
จวบจนในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีหลังจากที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต มีงานวิจัยเกี่ยวกับสมองของไอน์สไตน์เท่าที่มีการตีพิมพ์มีเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น รายงานวิจัยฉบับแรกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 หลังจากที่เลวีขุดคุ้ยเรื่องนี้ 7 ปี โดยกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กลีย์ (University of California, Berkley) ซึ่งมี ดร.ฮาร์วีย์รวมอยู่ด้วย
รายงานฉบับนี้เป็นผลจากการวิจัยเกี่ยวกับสมอง 2 บริเวณ คือ บริเวณที่เรียกว่า บริเวณ 9 (area 9) และบริเวณ 39 โดยเปรียบเทียบกับสมองของชายที่มีเชาวน์ปัญญาปกติ อายุราว 64 ปี จำนวน 11 คน ผลปรากฏว่าไม่พบความแตกต่างกับสมองของคนปกติ ยกเว้นบริเวณ 39 ของสมองซีกซ้ายที่พบว่ามีไกลอัลเซลล์ (Glial cell เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง หากไม่มีเซลล์ชนิดนี้ เซลล์ประสาทจะทำงานไม่เป็นปกติ) มากกว่าคนทั่วไป

 แสดงตำแหน่งของสมองไอน์สไตน์บริเวณ 9 และ 39 จากการศึกษาในปี ค.ศ. 1985 พบว่าสมองบริเวณ 39 ซีกซ้ายมีไกลอัลเซลล์
มากกว่าของคนปกติ



 ไกลอัลเซลล์
ซีรีบรัลคอร์เท็กซ์ (cerebral cortex) บริเวณ 9 นั้นเป็นส่วนของสมองที่มีชื่อว่าฟรอนทัล (frontal lobe) ส่วนสมองบริเวณ 39 นั้นเป็นของส่วนที่มีชื่อว่าแพริเอตทัล (parietal lobe) มีหน้าที่เกี่ยวกับการคิดในระดับสูง ได้แก่ การประมวลผลข้อมูลทางสายตา ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ภาษา และดนตรี ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงสรุปว่าอัจฉริยภาพด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ของไอน์สไตน์อาจมาจากการที่มีไกลอัลเซลล์ที่สมองส่วนแพริเอตทัลมากนี่เอง แต่ผลสรุปนี้ได้รับการโต้แย้งมากมาย รวมทั้งตัวงานวิจัยเองก็ได้รับการโต้แย้งมากเช่นกัน เพราะศึกษาจากตัวอย่างจำนวนน้อยมาก สมองอัจฉริยะเพียงคนเดียว เทียบกับคนปกติ 11 คน ซึ่งไม่อาจใช้เป็นข้อสรุปใดๆได้ หากต้องการให้ได้ข้อสรุปที่มีน้ำหนักมากกว่านี้ควรทำการศึกษาสมองอัจฉริยะหลายๆราย และเปรียบเทียบกับคนปกติในจำนวนที่มากกว่านี้








 ไอน์สไตน์ในวัยเด็ก วันรุ่น วัยหนุ่ม และวัยชรา
ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 ได้มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับสมองของไอน์สไตน์ตีพิมพ์ออกมาอีก 1 ฉบับ รายงานนี้ระบุว่าสมองของไอน์สไตน์มีน้ำหนักเพียง 1,230 กรัม (1.23 กิโลกรัม) ซึ่งเบากว่าสมองของคนทั่วไป (สมองคนปกติมีน้ำหนักเฉลี่ย 1,400 กรัม) นอกจากนี้ สมองส่วนซีรีบรัลคอร์เท็กซ์ยังบางกว่าคนทั่วไป รวมทั้งสมองไอน์สไตน์ยังมีเซลล์ประสาทมากกว่าของคนทั่วไปอีกด้วย
งานวิจัยฉบับล่าสุด
ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับสมองของไอน์สไตน์ฉบับที่ 3 อันเป็นฉบับล่าสุดนั้นเป็นงานวิจัยของ ดร.แซนดรา ไวเทลสัน, เดบรา คีการ์ และ ดร.ทอมัส ฮาร์วีย์ แห่งมหาวิทยาลัยแมกมาสเตอร์ เมืองออนทาริโอ ประเทศแคนาดา ซึ่ง ดร.ฮาร์วีย์นี้ก็เป็นที่ทราบกันมาแล้วว่าเป็นผู้ที่ผ่าและเก็บรักษาสมองของไอน์สไตน์ไว้
ดร.ไวเทลสันตั้งข้อสังเกตว่าการที่ไอน์สไตน์ค้นพบความจริงในธรรมชาติและตั้งเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพอันลือลั่นได้นั้นจะต้องมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม และนอกจากนั้นแล้วยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และจินตนาการเกี่ยวกับตำแหน่งของวัตถุในระบบสามมิติเหนือมนุษย์ทั่วไป ซึ่งความสามารถส่วนนี้เกิดจากสมองส่วนแพริเอตทัล ดังนั้น ดร.ไวเทลสันจึงสนใจศึกษาสมองส่วนแพริเอตทัลของไอน์สไตน์เป็นพิเศษว่าจะมีความแตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่
งานวิจัยนี้ทำโดยศึกษาสมองของไอน์สไตน์เปรียบเทียบกับสมองของคนทั่วไป โดยเปรียบเทียบกับสมองชาย 35 ตัวอย่าง และสมองหญิง 56 ตัวอย่าง และในจำนวนสมองตัวอย่างของเพศชายนั้นมีสมองของผู้ที่มีอายุในวัยชราเช่นเดียวกับไอน์สไตน์ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) อยู่ 8 ตัวอย่าง สมองที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบนี้ได้มาจากคลังสมองของมหาวิทยาลัยแมกมาสเตอร์นั่นเอง
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าคลังสมองคืออะไร คลังสมองก็คือแหล่งที่เก็บรวบรวมสมองของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง ในปัจจุบันมีศูนย์การแพทย์และมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ตั้งคลังสมองขึ้นและขอรับบริจาคสมองจากผู้มีจิตเป็นกุศลที่ต้องการอุทิศสมองเพื่อการศึกษา ซึ่งต้องแจ้งความจำนงไว้ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ครั้นเมื่อเสียชีวิตไปแล้วญาติจะต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานที่รับบริจาคสมองรีบมาเก็บสมองไปโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็เหมือนกับการบริจาคร่างกายนั่นเอง แต่การบริจาคสมองนั้นยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก และมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือต้องรีบเก็บสมองไปภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังผู้บริจาคเสียชีวิต ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะญาติมัวแต่สนใจเรื่องเกี่ยวกับเรื่องการจัดงานศพหรือไม่ก็มัวเศร้าโศกเสียใจอยู่จนทำให้แจ้งล่าช้า กว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึงสมองก็เสื่อมสภาพไปเสียแล้ว ทำให้ใช้ศึกษาไม่ได้ ดังนั้นในปัจจุบันคลังสมองต่างๆส่วนใหญ่จึงเก็บสมองของผู้ป่วยโรคทางสมองไว้มากเพราะหาได้ง่ายเนื่องจากผู้ป่วยทางสมองมักอยู่ในความดูแลของแพทย์อยู่แล้ว แต่มีสมองของคนปกติอยู่น้อย สมองอัจฉริยะยิ่งหาได้ยากมาก
วิธีการเก็บสมองในคลังสมองทำโดยแช่เย็นเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เย็นจัดเพื่อรักษาสภาพของเนื้อสมองเอาไว้



ทรงผมของไอน์สไตน์เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ไอน์สไตน์มีผมแข็งจัดทรงยาก จึงยุ่งเหยิงราวกับถูกผีหลอกอยู่เสมอ
แม้ว่าสมองของไอน์สไตน์จะมีน้ำหนักเพียง 1,230 กรัม ซึ่งในรายงานการวิจัยปี ค.ศ. 1996 สรุปว่าสมองของไอน์สไตน์เบากว่าคนทั่วไป แต่จากการศึกษาของไวเทลสันในครั้งนี้ได้เปรียบเทียบกับสมองของชายในวัยชราเช่นเดียวกับไอน์สไตน์และพบว่าสมองของไอน์สไตน์ไม่ได้เบากว่าของคนทั่วไปเลย เพราะตามปกติแล้วสมองในวัยชราจะฝ่อลงไปบ้าง ดังนั้นไวเทลสันจึงสรุปว่า สมองของไอน์สไตน์มีน้ำหนักปกติ
นอกจากนี้ จากการวัดขนาดของสมองส่วนต่างๆ ไวเทลสันและคณะก็พบว่าสมองของไอน์สไตน์ไม่ได้แตกต่างจากของคนทั่วไปแต่อย่างใด ยกเว้นอยู่บริเวณเดียวที่พบความแตกต่าง บริเวณนั้นคือพูสมองแพริเอตทัลทั้งของสมองซีกซ้ายและซีกขวา


อารมณ์สนุกของไอน์สไตน์ แต่งตัวเป็นอินเดียนแดงเสียเลย


 ภาพสมองเมื่อมองจากด้านต่างๆ สมองส่วนสีฟ้า เขียว เหลือง ม่วง คือซีรีบรัม สีแดงอิฐคือซีรีเบลลัม และสีแดงเลือดนกคือก้านสมอง พูสมองแพริเอตทัลแสดงไว้ด้วยสีเขียว
ไวเทลสันพบว่าพูสมองแพริเอตทัลของไอน์สไตน์แตกต่างจากคนทั่วไปตามที่สันนิษฐานไว้ เพราะความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ความรู้ ความเข้าใจ และจินตนาการเกี่ยวกับตำแหน่งและเนื้อที่ของวัตถุในระบบสามมิติเกิดจากสมองส่วนนี้ ความผิดปกติที่พบก็คือ คนทั่วไปจะมีลอนสมองซูปรามาร์จินัล (supramarginal gyrus ดูภาพประกอบ) เป็นลอนพับซ้อนกัน และมีส่วนย่อยของลอนสมองซูปรามาร์จินัลที่เรียกว่าแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัม (parietal operculum)




สมองของคนปกติ บริเวณที่ล้อมกรอบไว้เรียกว่าลอนสมองซูปรามาร์จินัล และส่วนที่แรเงาสีขาวไว้ (ในภาพเล็ก) คือส่วนย่อยที่เรียกว่าแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัม
คุณผู้อ่านคงสังเกตเห็นว่าสมองมนุษย์นั้นมีลักษณะภายนอกเห็นเป็นลอนและเป็นร่องจำนวนมากสมองลอนต่างๆและร่องสมองต่างๆนั้นล้วนแต่มีชื่อเรียกเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ต้องตั้งชื่อเรียกก็เพราะลอนสมองและร่องสมองต่างๆควบคุมระบบการทำงานของร่างกายส่วนต่างๆหากไม่มีชื่อเรียกนักวิทยาศาสตร์ก็คงสื่อสารกันไม่ถูกว่ากำลังพูดถึงสมองส่วนใด



ในสมองของคนทั่วไป ร่องสมองโพสต์เซ็นทรัล (postcentral sulcus, เส้นที่ผ่านจุด PC ถึง PC1 ในภาพ) จะมาบรรจบกับแขนงของร่องสมองซิลเวียน (anterior ascending branch of Sylvian fissure, เส้นที่ผ่านจุด A ถึง S ในภาพ) การบรรจบกันนี้ทำให้เกิดเป็นสามแยก และพื้นที่บรเวณสามแยก (ตรงที่แรเงา) ก็คือส่วนที่เรียกว่าแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัมนั่นเอง



สมองของไอน์สไตน์นั้นปลายแขนงของร่องสมองซิลเวียนบรรจบกับร่องสมองโพสต์เซ็นทรัล จึงไม่เกิดลักษณะสามแยกและไม่มีพื้นที่บริเวณสามแยก
(หมายถึงว่าไม่มีแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัมนั่นเอง)
เมื่อไม่มีแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัม ดังนั้นลอนสมองซูปรามาร์จินัลส่วนหลังจึงใหญ่เต็มบริเวณนั้นแทน ซึ่งเท่ากับว่าซูปรามาร์จินัลมีรอยพับซ้อนน้อยลง ซึ่งไวเทลสันเชื่อว่าทำให้การสื่อสารของเซลล์ประสาทในบริเวณนั้นดีขึ้นเพราะมีลอนสมองน้อยลง ทำให้ไอน์สไตน์มีความสามารถในการคำนวณและจินตนาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัตถุและเนื้อที่ในระบบสามมิติเหนือมนุษย์
แต่สำหรับสมองของไอน์สไตน์นั้นไม่มีส่วนที่เรียกว่าแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าลอนสมองซูปรามาร์จินัลมีการพับซ้อนกันน้อยลง โดยทั่วไปแล้วการที่สมองมีลอนมาก (หมายถึงมีร่องสมองมาก เมื่อมีร่องมากก็ย่อมมีลอนมากด้วย) แสดงให้เห็นว่าสมองนั้นมีการพัฒนาสูง เพราะร่องสมองช่วยเพิ่มพื้นที่ของผิวสมองให้มากขึ้นแต่ในกรณีของไอน์สไตน์นั้นไวเทลสันสันนิษฐานว่าการที่ลอนสมองซูปรามาร์จินัลมีรอยพับซ้อนน้อยลง (เพราะส่วนแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัมหายไป) ทำให้การสื่อสารของเซลล์ประสาทในบริเวณนั้นรวดเร็วขึ้น เปรียบเสมือนคลองเล็กคลองน้อยที่บรรจบกันเป็นลำธารใหญ่ น่าจะมีผลต่อความสามารถด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ ประกอบกับผลการวิจัยในปี ค.ศ. 1985 ที่สรุปว่าพูสมองแพริเอตทัลของไอน์สไตน์มีไกลอัลเซลล์มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นความผิดปกติต่างๆที่ตรวจสอบได้ในบริเวณพูสมองแพริเอตทัลนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับอัจฉริยภาพของไอน์สไตน์
นอกจากนี้ การที่ส่วนแพริเอตทัลโอเพอร์คิวลัมหายไปทำให้สมองของไอน์สไตน์ป่องข้างออกไปอีกเล็กน้อย เมื่อวัดส่วนกว้างที่สุดของสมองก็จะพบว่าสมองของไอน์สไตน์กว้างกว่าคนทั่วไปราวร้อยละ 15


ขอขอบคุณข้อมูลที่ได้คัดลอกเพื่อการเผยแพร่ความรู้เรื่องสมองจากเวปไซต์ห้องสมุดวิทยพัฒน์เป็นอย่างสูง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น